พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2470) เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ขณะนี้ จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น ในคราวปี 2524 และปี 2528 กระนั้น ก็ได้ทรงแต่งตั้งหัวหน้าคณะยึดอำนาจหลายคณะ เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2500 กับพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2540 ตลอดรัชกาลของพระองค์ เกิดรัฐประหารโดยกองทัพสิบกว่าครั้ง รัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ และนายกรัฐมนตรีเกือบ 30 คน
ประชาชนชาวไทยจำนวนมากเคารพพระองค์ อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญา คณะรัฐมนตรีหลายชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาก็ถูกคณะทหารล้มล้างไปด้วยข้อกล่าวหาว่านักการเมืองผู้ใหญ่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระนั้น พระองค์เองได้ตรัสเมื่อปี 2548 ว่า สาธารณชนพึงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้
พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ กับทั้งพระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ และงานดนตรีจำนวนหนึ่งด้วย ด้านสินทรัพย์ของพระองค์นิตยสารฟอบส์จัดอันดับให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2556 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พระองค์มีพระราชทรัพย์ 30,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ดูหมายเหตุด้านล่าง) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นใช้สินทรัพย์เพื่อสวัสดิการสาธารณะ เช่น เพื่อพัฒนาเยาวชน แต่ได้รับการยกเว้นมิต้องจ่ายภาษีและให้เปิดเผยการเงินต่อพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ไปในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบี สงขลา (อังกฤษ: Baby Songkla) ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"
พระนามภูมิพลอดุลเดชนั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา
พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: ?cole Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามลำดับ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด
ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จอมพล แปลกมีแนวคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง และประสงค์ให้ประเทศไทยเจริญเสมอนานารยประเทศ จอมพล แปลกมีนโยบาย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" โดยพยายามชูบทบาทของตนเองให้โดดเด่นกว่าพระมหากษัตริย์ และไม่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และควบคุมการใช้จ่ายของพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่น ๆ เช่นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์ เป็น กรมหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและจอมพล แปลกมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในโอกาสฉลองพุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จมาทรงเป็นประธานซึ่งก็ทรงตอบรับเป็นที่เรียบร้อย แต่ครั้นถึงวันงานทรงพระประชวรปัจจุบันทันด่วน ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเป็นประธานเปิดพิธีเอง และในเดือนสิงหาคมปีดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาโจมตีรัฐบาลของจอมพล แปลกว่าละเมิดพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งข่าวการระหองระแหงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลดังกล่าว ทำให้สาธารณะเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล แปลกได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อขอให้ทรงสนับสนุนรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเตือนจอมพล แปลกว่าขอให้ลาออกจากตำแหน่งเสียเพื่อมิให้เกิดรัฐประหาร แต่จอมพล แปลกปฏิเสธ เย็นวันดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทันที และสองชั่วโมงหลังจากการประกาศยึดอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการฉบับหลังมีความว่า
เมื่อรัฐบาลทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิงอำนาจแล้ว รัฐบาลได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยอนุญาตให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จออกประชาชนเป็นอันมาก ให้เสด็จประภาสในถิ่นทุรกันดาร และตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาที่พระองค์มีพระราชดำริริเริ่มด้วย โดยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้นำประเพณีหมอบกราบเข้าเฝ้า ซึ่งเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ กลับมาใช้ใหม่ กับทั้งประกาศให้สถาปนาศาสนาพุทธธรรมยุติกนิกายขึ้นซ้ำด้วย นอกจากนี้ นับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2475 สืบมา ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อถวายผ้าพระกฐิน
พิธีกรรมตามโบราณประเพณีหลายอย่างของราชวงศ์จักรี เช่นพิธีกรรมพืชมงคล ก็มีประกาศให้ฟื้นฟู วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (5 ธันวาคม) ก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติไทย แทนที่วันที่ 24 มิถุนายน อันตรงกับวันที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จด้วย
เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 สำนักพระราชวังก็มีประกาศให้จัดการไว้ทุกข์ในพระราชวังเป็นเวลายี่สิบเอ็ดวัน และศพจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระราชทานฉัตรห้าชั้น ซึ่งปรกติเป็นเครื่องยศของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กางกั้นตลอดระยะเวลาไว้ศพ ทั้งนี้ พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) องคมนตรี ได้กล่าวต่อมาว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่ากับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาก่อนเลย
หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2506 จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา และจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็สืบนโยบายราชานิยมของจอมพล สฤษดิ์ต่อมาอีกกว่าทศวรรษ ซึ่งเดือนตุลาคม 2516 ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาล และมีผู้ตายเป็นจำนวนมหาศาลอันเนื่องมาจากการปราบปรามของรัฐบาลนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพระทวารพระตำหนักจิตรลดารโหฐานรับผู้ชุมนุมที่หนีตายเข้ามา และพระราชทานพระราชโอกาสให้เหล่าผู้ชุมนุมเฝ้า ต่อมา ก็ทรงตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้ลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ตามลำดับ ครั้งนั้น สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนสำเร็จเป็นครั้งแรก ทว่า ไม่ช้าไม่นานต่อมาใน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็สามารถเข้าประเทศโดยบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้าง วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออก และเมื่อเวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปวัดบวรนิเวศ ไม่นานให้หลัง เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งกองกำลังติดอาวุธสังหารหมู่ผู้ประท้วงล้มตายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในความโกลาหลครั้งนั้น ฝ่ายทหารก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้ง และเสนอนามบุคคลสามคนให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกอบด้วย ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฎีกา, ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยความที่ธานินทร์ กรัยวิเชียร มีเกียรติคุณดีที่สุด จึงได้รับการโปรดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีประดับยศนายทหารชั้นนายพล เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2519 ความตอนหนึ่งว่า
"เช่นหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนไว้และเจาะจงว่า นายพลไทยยึดอำนาจ นายพลไทยเป็นเผด็จการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของท่านนายพลไทยไม่ใช่น้อย เพราะว่าถ้าเผด็จการก็ต้องเผด็จให้ดี เพราะว่านายพลไทยและทหารไทยทั้งหลาย ไม่เคยเผด็จการเพื่อให้เป็นเผด็จการแบบฝรั่ง พยายามที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เพราะทหารไทยถือชาติเป็นสูงสุด เป็นใหญ่ ฉะนั้น เมื่อมีการว่ากล่าวว่านายพลไทยเป็นเผด็จการ เราก็จะต้องพยายามเผด็จการให้ดี ให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นชายชาติทหารโดยแท้"
เดือนกันยายน 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดภาคใต้
ในวันที่ 22 กันยายน 2520 เวลา 15.15 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ทรงประทับบนพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯราว 30,000 คน ก็ได้มีราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯไปหยิบไฟแช็คดังกล่าวเป็นเหตุให้ระเบิดลูกแรกเกิดระเบิดขึ้น ราษฏรต่างพากันแตกตื่นและเหยียบกับระเบิดลูกที่สอง ทำให้ระเบิดลูกที่สองเกิดระเบิดขึ้น ระเบิดลูกแรกห่างจากพลับพลาที่ประทับ 60.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 5.20 เมตร และระเบิดลูกที่สองห่างจากพลับพลาที่ประทับ 105.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 6.00 เมตร แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน ขณะที่เกิดความโกลาหลนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาลูกเสือชาวบ้านได้เข้าระงับควบคุมฝูงชนอย่างฉับพลัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงแบบมือถือที่เตรียมไว้แล้วปลอบโยนประชาชนมิให้ตื่นตระหนกและให้อยู่กับที่ ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มิได้ทรงรับบาดเจ็บใด ๆ
ขณะเกิดเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนประทับอยู่กับที่และทอดพระเนตรมองเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยืนรายล้อมถวายการอารักษา ในขณะที่พิธีการต้องหยุดชะงักชั่วครู่
ทั้งนี้ก่อนหน้าเหตุระเบิดราวราว 20 ชั่วโมง ก็ได้มีตำรวจขับรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งจนเกิดไฟลุกท่วม
ภายหลังเกิดเหตุ สมเด็จพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ซึ่งประทับอยู่ในพลับพลาฯทรงนำเหล่าราษฎรร้องเพลง “เราสู้” และภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ เวลา 18.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา
ธานินทร์ กรัยวิเชียรมีแนวคิดขวาจัด ทำให้เหล่านักศึกษาหนีเข้าป่าไปรวมกลุ่มกับพวกคอมมิวนิสต์ รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงถูกรัฐประหารนำโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใน พ.ศ. 2523 และคณะรัฐประหารก็ตั้งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ขณะนั้น กองกำลังที่นิยมรัฐบาลได้เข้ายึดกรุงเทพมหานคร ทว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิเสธไม่รับรอง การก่อการครั้งนี้จึงกลายเป็นกบฏที่รู้จักในชื่อ "กบฏเมษาฮาวาย" และนำไปสู่ "กบฏทหารนอกราชการ" ในเวลาต่อมา
รัฐประหารของคณะทหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง ซึ่งหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม จำนวนเจ็ดสิบเก้าคน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่ามาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แถลงว่า ณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด พลเอก สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยตกปากว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ภายหลังจากเลือกตั้งอีกเพื่อตัดข้อครหาบทบาทของทหารในรัฐบาลพลเรือน กลับยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสร้างความไม่พอใจท่ามกลางประชาชนเป็นอันมาก นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยมีร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นแกนนำ ซึ่งรัฐบาลของพลเอก สุจินดาได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดดเฉียบขาด กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในที่สุด และมีผู้คนล้มลายหลายหลากเมื่อฝ่ายทหารเปิดการโจมตีผู้ชุมนุม เหตุการณ์ดิ่งสู่ความรุนแรงเรื่อย ๆ เมื่อกำลังทหารและตำรวจเข้าควบคุมกรุงเทพมหานครเต็มที่ และท่ามกลางเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าแทรกแซง โดยมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เฝ้า และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการนี้ออกอากาศสดได้ ในภาพทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงขอให้คู่กรณียุติความรุนแรงและนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สันติ ณ จุดสูงสุดของวิกฤติการณ์ ปรากฏภาพพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้าผู้ประท้วง เฝ้าทูลละอองพระบาทโดยหมอบกราบ และที่สุดก็นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร และการเลือกตั้งทั่วไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานสภาองคมนตรี และรัฐบุรุษ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายรายงานสถานการณ์ การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเวลา 00.19 น. วันพุธที่ 20 กันยายน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้
เดิม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (อักษรย่อ CDRM) ต่อมาได้ตัดคำว่า under Constitutional Monarchy ออก เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คณะปฏิรูปฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น Council for Democratic Reform (อักษรย่อ CDR) โดยยังคงใช้ชื่อภาษาไทยตามเดิม
นอกจากนี้ ในวันที่ 22 กันยายน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก แพร่ภาพพิธีรับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก่พลเอก สนธิ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าประกาศฉบับดังกล่าว มีพลเอก สนธิเอง ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงวันที่ 20 กันยายน ขณะที่พิธีรับพระบรมราชโองการนั้น จัดให้มีขึ้นต่อมาในภายหลัง
หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดย หัวหน้า คปค. ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการโดยอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยต่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ใจความตอนหนึ่งว่า
จะเล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ) เหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ็บเลย สมเด็จฯก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตอบรับข้ออ้างของพระธิดาต่อสาธารณชนว่าเป็นจริงหรือเท็จ นอกจากนี้ พระองค์ก็ตรัสถึงการเมืองบ้างเล็กน้อยในบางโอกาส
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีประกาศแต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ จอมทัพไทย และอัครศาสนูปถัมภก และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงมีบทบาทในการเมืองไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2530-2540 เป็นที่ทราบกันว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในพฤษภาทมิฬ และทรงยับยั้งการปฏิวัติและการกบฏหลายช่วงด้วยกัน ทว่า พระองค์ก็ทรงสนับสนุนระบอบทหารหลายครา ซึ่งในจำนวนนี้ อาทิ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงปี 2500-2510 ในรัชสมัยของพระองค์ เกิดรัฐประหารสิบห้าครั้ง รัฐธรรมนูญสิบเก้าฉบับ และการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีเกือบสามสิบคน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 กลุ่มนิติราษฎร์จัดการเสวนาวิพากษ์บทบาทกองทัพเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย ผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร หัวหน้าคณะจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะ จะเห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี 2490 คณะใดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้า คณะนั้นก็จะเป็นกบฏ
ตามรัฐธรรมนูญไทย พระองค์ทรง "ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" แต่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2548 ว่า "...แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น ...ฉะนั้น ที่บอกว่าการวิจารณ์ เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบ้อม คือ ขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญว่ายังงั้น ลงท้าย พระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอำนาจมหาศาล บางส่วนเพราะความเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามของพระองค์และบางส่วนเป็นเพราะอำนาจของพระองค์มักถูกตีความขัดกันแม้นิยามอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม ซึ่งเน้นเด่นโดยข้อโต้เถียงแวดล้อมการแต่งตั้งจารุวรรณ เมณฑกาเป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดิน จารุวรรณได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนกรกฎาคม 2547 ว่าการแต่งตั้งเธอขัดต่อรัฐธรรมนูญ จารุวรรณไม่ยอมออกจากตำแหน่งโดยปราศจากพระบรมราชโองการชัดเจนจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเหตุผลว่าเธอเคยได้รับพระบรมราชานุญาต เมื่อรัฐสภาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนจารุวรรณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิเสธเขา วุฒิสภาปฏิเสธลงคะแนนยกเลิกการยับยั้งของพระองค์ สุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้จารุวรรณกลับเข้ารับตำแหน่งเมื่อชัดเจนจากบันทึกของสำนักราชเลขาธิการว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนับสนุนการแต่งตั้งเธอ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการอธิบายว่ากรณีนี้เป็นความพยายามของวุฒิสภาเพื่อบีบบังคับให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทำตามความปรารถนาของพวกตน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเฉพาะว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา ในที่สุดวุฒิสภาพิจารณาและลงมติเลือกจารุวรรณ เมณฑกา แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามนั้น จึงครบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว การพ้นจากตำแหน่งจึงต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยับยั้งกฎหมายน้อยครั้ง พอล แฮนด์ลีย์เขียนใน เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ ว่าในปี 2519 เมื่อรัฐสภาลงคะแนน 149–19 เสียงเพื่อขยายการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยสู่ระดับอำเภอ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิเสธลงพระปรมาภิไธยกฎหมาย รัฐสภาไม่ยอมออกเสียงยกเลิกการยับยั้งของพระองค์ ในปี 2497 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยับยั้งกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่รัฐสภาเห็นชอบสองครั้งก่อนทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธย กฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินของปัจเจกบุคคลที่ 50 ไร่ (80,000 ตารางเมตร) ขณะนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่สุดของประเทศ กฎหมายนี้ไม่ถูกใช้บังคับเพราะไม่นานจอมพลสฤษฎิ์ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐประหารและยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ทว่า บางทีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ยับยั้งการตรากฎหมาย เช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 107 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย แต่ก็ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งโดยตรง เพียงแต่มีพระราชกระแสท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ไม่ทรงเห็นด้วยกับมาตรา 107 วรรค 2 แห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเสมือนเป็นองค์กรทางการเมือง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญอภัยโทษอาชญากร แม้มีเกณฑ์หลายข้อสำหรับการได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งรวมอายุและโทษที่ยังเหลืออยู่ การอภัยโทษผู้ข่มขืนเด็กที่ต้องโทษหลายคน รวมผู้ข่มขืนและช่างภาพเปลือยเด็กชาวออสเตรเลียผู้หนึ่ง ก่อให้เกิดข้อโต้เถียง
นักวิชาการหลายคนนอกประเทศไทย ซึ่งรวมดันแคน แม็กคาร์โก และเฟเดริโก เฟอร์ราราสังเกตการข้องแวะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผ่าน "พระมหากษัตริยเครือข่าย" ซึ่งมีผู้แทนคนสำคัญที่สุดคือ เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แม็กคาร์โกอ้างว่า เครือข่ายอนุรักษนิยมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทำงานหลังฉากเพื่อสถาปนาอิทธิพลทางการเมืองในคริสต์ทศวรรษ 1990 แต่ถูกคุกคามโดยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของทักษิณ ชินวัตรในปี 2544 และ 2548 เฟอร์ราราอ้างไม่นานก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยยึดทรัพย์ของทักษิณ ชินวัตรว่า ตุลาการเป็นส่วนที่สถาปนาอย่างดีของเครือข่ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและเป็นลู่ทางหลักของพระองค์ในการใช้พระราชอำนาจนอกรัฐธรรมนูญแม้ภายนอกดูชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เขายังเน้นด้วยว่าเมื่อเทียบกับการตัดสินปล่อยตัวทักษิณของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2544 ตุลาการเป็นส่วนสำคัญของ "เครือข่าย" ดังกล่าวมากกว่าในอดีตมากเพียงใด
ความสามารถของเครือข่ายนี้ในการใช้อำนาจยึดความเป็นที่นิยมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและการควบคุมภาพลักษณ์อันเป็นที่นิยมของพระองค์บางส่วน Jost Pachaly แห่งมูลนิธิไฮน์ริช เบิลล์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "ทรงมีบทบาทสำคัญหลังฉาก แต่บทบาทนั้นประเมินได้ยากเพราะไม่มีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่มีใครรู้อะไรเจาะจงจริง ๆ" เนื่องจากกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ห้ามอภิปรายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ต่อมาในปี 2539 มีการถวายใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" ซึ่งคาดว่าย่อมาจาก "ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง" หรืออาจออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า "นายหลวง" ซึ่งแปลว่าเจ้านายผู้เป็นใหญ่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงออกผนวช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง และนอกจากนี้ยังเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเกื้อกูล ค้ำจุนทุกศาสนาอย่างเสมอภาค ทรงสนับสนุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้แปลพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2505
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถแสดงทัศนะทางการเมืองส่วนพระองค์ในที่สาธารณะได้ แต่จะทรงตรัสถึงการเมืองเล็กน้อยในบางโอกาส ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงมีบทบาททางการเมืองอยู่บ้าง เห็นได้จากการเข้าแทรกแซงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเข้าเฝ้า นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4000 โครงการ นอกจากนี้ยังเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญที่สุดจนทำให้พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทย คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระองค์ได้ปฏิบัติพระองค์เองเป็นแบบอย่าง โปรดให้มีการการปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิลขึ้นในสวนจิตรลดา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการประหยัด ตัวอย่างเช่น ทรงใช้ดินสอเดือนละ 1 แท่ง หรือการใช้ยาสีพระทนต์จดหมดหลอด นอกจากนั้นยังไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับใด ๆ เลย ยกเว้นแต่นาฬิกาข้อมือ
พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ โรงเรียน องค์การและมูลนิธิต่าง ๆ มากกว่า 1000 แห่ง ส่วนการพักผ่อนที่ทรงสนพระราชหฤทัยคือการเสด็จไปประทับ ณ วังไกลกังวลและสุนัขทรงเลี้ยง ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือคุณทองแดง สุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ นอกจากนี้ ภาพพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ยามพักผ่อนและชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราว เช่น การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสวยพระกระยาหารร่วมกัน
ความนิยมในพระองค์ปรากฏให้หลังเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ปี 2546 เมื่อผู้ประท้วงชาวไทยหลายร้อยคนซึ่งโกรธจากข่าวลือว่าผู้ก่อจลาจลชาวกัมพูชาย่ำพระบรมฉายาลักษณ์ ชุมนุมนอกสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในกรุงเทพมหานคร สถานการณ์จบลงอย่างสันติก็เมื่อพลเอก สันต์ ศรุตานนท์ บอกฝูงชนว่าเขาได้รับโทรศัพท์จากราชเลขานุการ อาสา สารสิน ถ่ายทอดว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขอให้สงบ ฝูงชนจึงสลาย
ประเพณีหมอบกราบเบื้องหน้าพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยเลิกไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้รับการฟื้นฟูในรัชกาลของพระองค์ คนในบังคับของพระองค์แทนตนว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" (the dust under your feet) พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ติดอยู่หน้าอาคารรัฐบาล ทางเข้าท่าอากาศยาน และโดยมารยาทในสำนักงานและโรงเรียน
ทอมัส ฟุลเลอร์แห่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ อ้างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ว่า "ขบวนการต่อต้านพระมหากษัตริย์ปัจจุบันเนื่องจากข้อเท็จจริงว่าพระมหากษัตริย์เดี๋ยวนี้กลายเป็นสมมติเทพ ยิ่งทำให้พระมหากษัติรย์ศักดิ์สิทธิ์เท่าไร ยิ่งทำให้อธิบายไม่ได้และอยู่นอกเหนือสามัญสำนึก" เขาเขียนว่า วิธีวัดกำลังของขบวนการต่อต้านพระมหากษัตริย์วิธีหนึ่ง คือ การวัดความพยายามของรัฐบาลทหารในการตอบโต้ ในปี 2558 รัฐบาลใช้งบประมาณ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่างบประมาณของทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ไปกับการรณรงค์ส่งเสริมชื่อ "เทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา ซึ่งพระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ เมื่อปี 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13
พระองค์ทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน โปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ประพันธ์หลายเพลง เช่น เพลงพระราชนิพันธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือพรปีใหม่ เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอาการประชวรเรื้อรังพระหทัยเต้นผิดปกติ มีสาเหตุจากการได้รับเชื้อไมโครพลาสมา ราวปี 2530 เสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ คณะแพทย์ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2538
วันที่ 13 ตุลาคม 2550 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ระบุว่าเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระอาการพระวรกายด้านขวาอ่อนแรง แพทย์ประจำพระองค์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อถวายตรวจพระสมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พบว่ามีผิวพระสมองด้านซ้ายขาดเลือดเล็กน้อย คณะแพทย์จึงขอพระราชทานให้ประทับที่โรงพยาบาล เพื่อถวายพระโอสถรักษาและสังเกตพระอาการ หลังถวายการรักษาประมาณ 8 ชั่วโมง ปรากฏว่าพระอาการอ่อนแรงของพระเพลา (ขา) ดีขึ้น
วันที่ 4 ธันวาคม 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งว่า มีพระอาการประชวรเล็กน้อย กล่าวคือ ทรงเจ็บพระศอ มีเสมหะมาก เนื่องจากหลอดพระวาโยอักเสบ มีพระอาการอ่อนเพลีย แต่ไม่มีไข้
วันที่ 8 ธันวาคม 2551 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร ฉบับที่ 4 ความว่า พระปรอทลดลงเป็นปกติแล้ว ยังทรงพระกรรสะ (ไอ) เล็กน้อย เสวยพระกระยาหารอ่อนได้มากขึ้น กำลังพระวรกายเพิ่มขึ้น จึงงดถวายน้ำเกลือผสมน้ำตาล และพระโอสถปฏิชีวนะ ผลการตรวจพระโลหิต และพระเสมหะเพิ่มเติม บ่งว่าไม่พบเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ร้ายแรงต่อระบบหายใจ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานให้ทรงพักฟื้นพระวรกายอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะทรงหายเป็นปกติ
นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มประชวร พระองค์แปรพระราชฐานจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปโรงพยาบาลศิริราช อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ในเดือนตุลาคม
วันที่ 20 กันยายน 2552 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปรอท (เป็นไข้) และมีพระอาการอ่อนเพลีย ตลอดจนเสวยพระกระยาหารได้น้อยลง คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมกับถวายการรักษาด้วยน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต ร่วมกับยาปฏิชีวนะ พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์อย่างต่อเนื่องถึง 34 ฉบับ โดยได้ออกแถลงการณ์ถึงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552
วันที่ 30 ตุลาคม 2552 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 34 ความว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ผลการตรวจพระอุระ (อก) ด้วยเครื่องเอกซเรย์ ไม่พบการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ผลการตรวจพระโลหิต ไม่บ่งชี้ว่ามีการอักเสบ พระอาการทั่วไปดีขึ้นมาก ทรงมีกำลังพระวรกายแข็งแรงขึ้นอีก เสวยพระกระยาหารได้เป็นปกติ คณะแพทย์จึงงดถวายพระโอสถปฏิชีวนะ แต่ยังคงถวายพระกระยาหารบำรุงตามหลักโภชนาการต่อไป ด้านสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเล่าถึงพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่า พระอาการดีขึ้นมาก ทรงไม่มีไข้ ทรงทำกายภาพบำบัด ทรงสามารถลุกยืน และทรงเดินได้โดยใช้เครื่องประคอง คือ วอล์กเกอร์ ทรงหัดเดินทุกวัน คิดว่าอีกไม่นาน พระองค์จะทรงแข็งแรงเหมือนเดิม และเสด็จฯ กลับพระตำหนักได้
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 36 ว่าทรงมีภาวะน้ำไขสันหลังในพระโพรงพระสมองมากกว่าปกติ คณะแพทย์กำหนดการถวายการรักษาในคืนวันนี้ ส่วนผลการตรวจต่าง ๆ ในระบบอื่นอยู่ในเกณฑ์ปกติ และพระอาการทั่วไปดี
วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 48 ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการแน่นพระนาภีและหายพระทัยเร็วกว่า ปรกติเล็กน้อย จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางเส้นพระโลหิต พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิต และหายพระทัยปรกติ เสวยพระกระยาหารอ่อนได้ดี ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 50 ว่าพระอาการทั่วไปดีขึ้น แน่นและเจ็บพระนาภีน้อยลง อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิต และการหายพระหทัยเป็นปรกติ เสวยพระกระยาหารได้ดี
วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 59 ว่าพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้างบวมอักเสบ และยังทรงมีพระอาการอ่อนเพลีย คณะแพทย์ฯ จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลฯ ขอให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่งนั้น โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำแจกันดอกไม้มาทูลเกล้าฯ ถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรอทสูง ทรงมีพระกรรสะเล็กน้อย ในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผลการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบพระนาภีไม่มีความผิดปรกติ พระปับผาสะ ไม่อักเสบรุนแรง คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานงดเสวยพระกระยาหารชั่วคราว และได้ถวายสารน้ำทางหลอดพระโลหิตร่วมกับพระโอสถปฏิชีวนะ ก่อนที่ในช่วงบ่าย อาการพระปรอทลดลง ความดันพระโลหิต และการหาย พระทัยเป็นปรกติ พระอาการทั่วไปเริ่มดีขึ้น
วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ประทับรถยนต์พระที่นั่ง แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นพ.อุดม คชินทร ได้แถลงการว่า ขณะนี้ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพลานามัยดีมาก ทำให้ทรงมีพระราชดำริอยากไปประทับที่วังไกลกังวล เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถ ถือเป็นการเสด็จฯ ไปประทับชั่วคราว
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพระราชทานพระราชาอนุญาตให้คณะแพทย์ตรวจพระวรกายตามคำกราบบังคมทูลฯ ของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จฯด้วย กระทั่งเวลา 20.42 น. รถยนต์พระที่นั่งถึงยังโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์พบว่า อุณหภูมิพระวรกาย การหายพระหทัย ความดันพระโลหิต เป็นปกติ เช่นเดียวกับพระอุระ พระปัปผาสะ (ปอด) และภาวการณ์ทำงานของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ปกติ ล่าสุดวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯประทับรถตู้พระที่นั่ง จากที่ประทับ ณ วังไกลกังวล กลับเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราช อีกครั้ง โดยถึงประตู 8 โรงพยาบาลศิริราช เวลา 23.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นพระองค์ทรงมีไข้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาดูแลใกล้ชิด
วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 4 ว่าพระอาการทั่วไปดีขึ้น อุณหภูมิพระวรกายลดลงจนเกือบเป็นปรกติ การเต้นของพระหทัยเป็นปรกติ พระอาการเจ็บแผลผ่าตัดบรรเทาลง เริ่มเสวยพระกายาหารได้ คณะแพทย์ฯ ได้ลดพระโอสถระงับการเจ็บลง และงดถวายน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต แต่ยังคงถวายสารอาหารและพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิต กับเฝ้าดูและพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 5 ว่าพระอาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ พระชีพจรและความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ อุณหภูมิพระวรกายลดลงอีกจนเกือบเป็นปรกติ พระอาการเจ็บแผลผ่าตัดลดลงมาก เคลื่อนไหวพระวรกายได้ดีขึ้น หายพระหทัยปรกติ เสวยพระกระยาหารได้บ้าง
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 เวลา 14.00 น. เพื่อเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ และเพื่อฟื้นฟูพระวรกายในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเพื่อมาตรวจพระวรกายของคณะแพทย์ ผลการตรวจพบว่าพระโลหิต อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิตพระหทัย และระบบการหายพระทัยเป็นปกติ
วันที่ 20 กันยายน 2558 ทอมัส ฟุลเลอร์แห่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ เขียนว่า สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์อธิบายอาการป่วยของพระองค์บ่อยขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดา ทรงนำสวดมนต์ให้หลังพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งปกติใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย
พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินและหุ้น โดยแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ ได้โดยสังเขป คือทรัพย์สินส่วนพระองค์ พระคลังข้างที่ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์อุทิศพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อโครงการพระราชดำริจำนวนกว่า 4,000 โครงการ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาภายในประเทศในด้านกสิกรรม เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย การส่งเสริมอาชีพ สาธารณูปโภค และการศึกษา
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อ้างว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 ซึ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากกัน
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อการนั้น จึงมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นเรียก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ ได้แก่ ที่ดินและหุ้น ปัจจุบันมีผู้เช่าที่ดินทั่วประเทศมากกว่า 3 หมื่นสัญญา แปลงสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ที่ดินโรงแรมโฟร์ซีซั่น ที่ดินสยามพารากอน ที่ดินเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า ที่ดินองค์การสะพานปลา และที่ดินริมถนนพระรามที่ 4 ฝั่งเหนือ จากสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ ยาวจรดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งนี้บริษัทซีบีริชาร์ดเอลลิส บริษัทโบรกเกอร์ด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก ได้เคยประมาณการตัวเลขพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ที่ 32,500 ไร่ โดยในบางพื้นที่มีมูลค่าสูงกว่า 380 ล้านบาทต่อไร่ ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย โดยถ้านับรวมทั้งหมด หุ้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ มีอยู่ทั้งหมดคิดเป็น 7.5% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้พระองค์ทรงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บ ให้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ชี้แจงถึงบทความดังกล่าวว่า "มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากในความเป็นจริง ทรัพย์สินที่นับมาประเมินนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์"
คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สำนักงานฯ มีฐานะเป็นเอกชน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะ "สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย" สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิจารณ์ว่า ทรัพย์สินส่วนนี้แทบไม่ต่างกับทรัพย์สินส่วนพระองค์
วันที่ 14 ธันวาคม 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเงิน 200,000,000 บาท แก่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดีเพื่อใช้ในการดำรงชีพและดูแลครอบครัว มีข่าวกระทรวงการคลังยืนยันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขอรับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
บิลเลียนแนส์นิวส์ไวร์ (Billionaires NewsWire) ระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังลงทุนในบริษัทที่ไม่แสดงรายการต่อสาธารณะ เช่น เครือโรงแรมเยอรมัน เคมพินสกีอาเก (Kempinski AG) และเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงทุนส่วนพระองค์เอง โดยมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากสำนักงานพระคลังข้างที่ และตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ขึ้น โดยมี “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดว่าการดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” ทรัพย์สินส่วนพระองค์นี้ยังหมายรวมถึง เงินทูลเกล้าถวายฯ ตามพระราชอัธยาศัยต่าง ๆ ซึ่งทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นต้องเสียภาษีอากรตามปกติไม่ได้รับการยกเว้นเรื่องภาษีมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวว่า พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวนมากแก่ โครงการพระราชดำริ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ การกุศล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
บิลเลียนแนส์นิวส์ไวร์ (Billionaires NewsWire) ชี้ว่าพระองค์ทรงมีทองคำและเครื่องประดับจำนวนมาก คือ ทองคำ 9,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นิตยสารดังกล่าวยังตั้งประเด็นว่า เหตุใดพระองค์จึงประสงค์ให้ประชาชนคิดว่าพรองค์ไม่ร่ำรวยเท่ากับที่รายงานเสนอ และเสนอว่า อาจเป็นเพราะความกลัวถูกปฏิเสธ แหล่งข่าวยังว่า ที่ทรัพย์สินของพระองค์ถูกปิดไว้นั้นไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องทรัพย์สินเหล่านั้นจากสายตาของสาธารณะแล้ว ยังเพื่อปกป้องพระบรมวงศานุวงศ์จากภัยคุกคามและผลพวงจากการถูกเปิดเผยด้วย นอกจากนี้ ยังว่าผู้ใดที่มุ่งขุดคุ้ยความมั่งคั่งของพระองค์เพื่อพยายามแยกพระองค์จากราษฎรอาจได้รับโทษความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย
ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะที่ถือครองหุ้นเกิน 0.5% (มูลค่า ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2558)
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว ความสูงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว ทรงพัดแฉก หล่อด้วยเงิน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ส่วนพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตั้งการฉลองสมโภชพระพุทธรูปประจำประชนมวาร ในวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเสร็จการแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานไว้กับพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชพิธีสงกรานต์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นปางประจำวันจันทร์
พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479
ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
ด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดประสงค์ คือ การพัฒนาบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น แนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบท คือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะแรกล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่าง ๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทานซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย
พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้น ๆ อีกด้วย
ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ ที่สำคัญเป็นต้นว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ที่ได้รับมอบถวายปริญญากิตติมศักดิ์มากเป็นสถิติโลกถึง 136 ฉบับ ใน พ.ศ. 2540 โดยทรงได้รับมอบถวายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
เฉลิมพระชนมพรรษา (ทุกปี) • การเสด็จออกมหาสมาคม (ในโอกาสสำคัญ) • สมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ (โอกาสพิเศษ)